ธาตุสี่



ภิกษุทั้งหลาย !
ธาตุมีสี่อย่างเหล่านี้

สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?

สี่อย่าง คือ
ปฐวีธาตุ
อาโปธาตุ
เตโชธาตุ
วาโยธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย !
เหล่านี้แล คือ ธาตุสี่อย่าง


( บาลี – นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐๓/๔๐๓ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้



ภิกษุทั้งหลาย !
ปฐวีธาตุเป็นอย่างไรเล่า ?

ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี
ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
ส่วนใดเป็นของแข็ง เป็นของหยาบ
อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว
ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ

ผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย
เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย
หนังเนื้อเอ็นทั้งหลาย กระดูกทั้งหลาย

เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม
ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ
อุจจาระ หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม
ที่เป็นภายนอกก็ตาม

นี้แหละเรียกว่า ปฐวีธาตุ



ภิกษุทั้งหลาย !
อาโปธาตุเป็นอย่างไรเล่า ?

อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี
ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย !
อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
ส่วนใดเอิบอาบเปียกชุ่ม อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว
ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ

น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน
น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก
น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย !
อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม
ที่เป็นภายนอกก็ตาม

นี้แหละเรียกว่า อาโปธาตุ



ภิกษุทั้งหลาย !
เตโชธาตุเป็นอย่างไรเล่า ?

เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี
ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย !
เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
ส่วนใดเป็นของเผา เป็นของไหม้
อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว
ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ

ธาตุไฟที่ยังกายให้อบอุ่นอย่างหนึ่ง
ธาตุไฟที่ยังกายให้ชราทรุดโทรมอย่างหนึ่ง
ธาตุไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายอย่างหนึ่ง

ธาตุไฟที่ทำอาหาร ซึ่งกินแล้ว
ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว
ให้แปรไปด้วยดีอย่างหนึ่ง หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย !
เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม
ที่เป็นภายนอกก็ตาม

นี้แหละเรียกว่า เตโชธาตุ



ภิกษุทั้งหลาย !
วาโยธาตุเป็นอย่างไรเล่า ?

วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี
ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย !
วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
ส่วนใดเป็นลม ไหวตัวได้
อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว
ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ

ลมพัดขึ้นเบื้องสูงอย่างหนึ่ง
ลมพัดลงเบื้องต่ำอย่างหนึ่ง

ลมนอนอยู่ในท้องอย่างหนึ่ง
ลมนอนอยู่ในลำไส้อย่างหนึ่ง

ลมแล่นไปทั่วทั้งตัวอย่างหนึ่ง
และลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง

หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย !
วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม
ที่เป็นภายนอกก็ตาม

นี้แหละเรียกว่า วาโยธาตุ


( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๔๓๗-๔๓๙/๖๘๔-๖๘๗ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com