อริยสัจสี่



ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐมีสี่อย่างเหล่านี้

สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?

สี่อย่าง คือ
ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์

ความจริงอันประเสริฐ
คือ เหตุให้เกิดทุกข์

ความจริงอันประเสริฐ
คือ ความดับไม่เหลือของทุกข์

และความจริงอันประเสริฐ
คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์

เป็นอย่างไรเล่า ?

ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ภิกษุทั้งหลาย !
อันนี้เรากล่าวว่า
ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์

เป็นอย่างไรเล่า ?

ตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก
อันประกอบด้วยความกำหนัด
เพราะอำนาจแห่งความเพลิน
มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่

( กามตัณหา )
ตัณหาในกาม

( ภวตัณหา )
ตัณหาในความมีความเป็น

( วิภวตัณหา )
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น

ภิกษุทั้งหลาย !
อันนี้เรากล่าวว่า
ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐ
คือ ความดับไม่เหลือของทุกข์

เป็นอย่างไรเล่า ?

ความดับสนิทเพราะความจางคลายดับไป
โดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย
ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง
ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด

ภิกษุทั้งหลาย !
อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือ ความดับไม่เหลือของทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐ
คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์

เป็นอย่างไรเล่า ?

หนทางอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์แปดนี้นั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้

( ความเห็นชอบ )
สัมมาทิฏฐิ

( ความดำริชอบ )
สัมมาสังกัปปะ

( การพูดจาชอบ )
สัมมาวาจา

( การงานชอบ )
สัมมากัมมันตะ

( การเลี้ยงชีพชอบ )
สัมมาอาชีวะ

( ความเพียรชอบ )
สัมมาวายามะ

( ความระลึกชอบ )
สัมมาสติ

( ความตั้งใจมั่นชอบ )
สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย !
อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย !
เหล่านี้แล คือ ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้

พวกเธอพึงทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์

นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์

นี้เป็นทางดำเนิน
ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ดังนี้เถิด


( บาลี – มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๔-๕๓๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com