วินิจฉัยกรรม



( เมื่อจะกระทำ )

ราหุล !
เธอใคร่จะทำกรรมใดด้วยกาย
พึงพิจารณากรรมนั้นเสียก่อนว่า
กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้
เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร
มีทุกข์เป็นวิบากหรือไม่หนอ ดังนี้

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้
เธอไม่พึงกระทำกายกรรมชนิดนั้นโดยถ่ายเดียว

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ว่า
กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล
มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้

ราหุล !
เธอพึงกระทำกายกรรมชนิดนั้น



( เมื่อกระทำอยู่ )

ราหุล !
เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายอยู่
พึงพิจารณากรรมนั้นว่า
กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้
เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร
มีทุกข์เป็นวิบากหรือไม่หนอ ดังนี้

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้
เธอพึงเลิกละกายกรรมชนิดนั้นเสีย

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ว่า
กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล
มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้

ราหุล !
เธอพึงเร่งเพิ่มการกระทำกายกรรมชนิดนั้น



( เมื่อกระทำแล้ว )

ราหุล !
เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายแล้ว
พึงพิจารณากรรมนั้นว่า
กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้
เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร
มีทุกข์เป็นวิบากหรือไม่หนอ ดังนี้

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้
เธอพึงแสดง พึงเปิดเผย
พึงกระทำให้เป็นของหงาย
ซึ่งกายกรรมนั้นในพระศาสนา
หรือในเพื่อนสพรหมจารี
ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย

ครั้นแสดง ครั้นเปิดเผย
ครั้นกระทำให้เป็นของหงายแล้ว
พึงถึงซึ่งความระวังสังวรต่อไป

ราหุล !
ถ้าเธอพิจารณารู้สึกอยู่ดังนี้ว่า
กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นกายกรรมที่เป็นกุศล
มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้

ราหุล !
เธอพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์
ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด

… … … … … … …

ในกรณีแห่ง วจีกรรม และ มโนกรรม ก็ตรัสไว้โดยมีนัยยะอย่างเดียวกัน

… … … … … … …


( บาลี – ม. ม. ๑๓/๑๒๖-๑๒๘/๑๒๙ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com