ธรรมสี่ประการย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้
ธรรมสี่ประการ



คหบดี !
ธรรมสี่ประการนี้ น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ธรรมสี่ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?

ขอโภคทรัพย์
จงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม

นี้เป็นธรรมประการที่หนึ่ง
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก



เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลาย
โดยทางธรรมแล้ว

ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย


นี้เป็นธรรมประการที่สอง
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก



เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลาย
โดยทางธรรมแล้ว

ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว

ขอเราจงเป็นอยู่นาน
จงรักษาอายุให้ยั่งยืน


นี้เป็นธรรมประการที่สาม
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก



เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลาย
โดยทางธรรมแล้ว

ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว

เป็นอยู่นาน
รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว

เมื่อตายแล้ว
ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

นี้เป็นธรรมประการที่สี่
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก



คหบดี !
ธรรมสี่ประการนี้แล น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

คหบดี !
ธรรมสี่ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้
ธรรมสี่ประการ อันน่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ธรรมสี่ประการ เป็นอย่างไรเล่า  ?

( ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา )
สัทธาสัมปทา ๑

( ความถึงพร้อมด้วยศีล )
สีลสัมปทา ๑

( ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค )
จาคสัมปทา ๑

( ความถึงพร้อมด้วยปัญญา )
ปัญญาสัมปทา ๑



คหบดี !
ก็สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า
เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

เป็นผู้ไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึก
ได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา



ก็สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้เว้นขาด
จากปาณาติบาต

เป็นผู้เว้นขาด
จากอทินนาทาน

เป็นผู้เว้นขาด
จากกาเมสุมิจฉาจาร

เป็นผู้เว้นขาด
จากมุสาวาท

เป็นผู้เว้นขาด
จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

นี้เรียกว่า สีลสัมปทา



ก็จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
มีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่

มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ
มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ

เป็นผู้ควรแก่การขอ
ยินดีในการให้และการแบ่งปัน

นี้เรียกว่า จาคสัมปทา



ก็ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

บุคคลมีใจอันความโลภอย่างแรงกล้า
คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว
ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ

เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ
และละเลยกิจที่ควรทำเสีย
ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข

บุคคลมีใจอันพยาบาท ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว
ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ

เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ
และละเลยกิจที่ควรทำเสีย
ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข

คหบดี !
อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า
อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะ
อันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้

อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า
พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

ย่อมละเสีย
ซึ่งสิ่งที่เป็นอุปกิเลสแห่งจิตเหล่านั้น

คหบดี !
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า
อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต ดังนี้แล้ว

เมื่อนั้นย่อมละเสียได้

เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า
พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ดังนี้แล้ว

เมื่อนั้นย่อมละสิ่งเหล่านั้นเสียได้

อริยสาวกนี้เราเรียกว่า
เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น
เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา



คหบดี !
ธรรมสี่ประการเหล่านี้แล

ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรมสี่ประการ
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก


( บาลี – จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕-๙๐/๖๑ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com