ความต่างกันระหว่าง
ผู้ให้ทานและผู้ไม่ให้ทาน



ครั้งนั้นแล
สุมนาราชกุมารีแวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน
และราชกุมารี ๕๐๐ คน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า

ภันเต
สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน
ที่มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน
คนหนึ่งเป็นผู้ให้ทาน คนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ทาน
คนทั้งสองนั้นภายหลังจากการตาย
เพราะกายแตกทำลาย เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
คนทั้งสองผู้เป็นเทวดาเหมือนกันนั้น
จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่ ?

สุมนา
คนทั้งสองนั้นย่อมมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ

เทวดาผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ

ด้วยอายุที่เป็นทิพย์
วรรณะที่เป็นทิพย์
สุขที่เป็นทิพย์
ยศที่เป็นทิพย์
และอธิปไตยที่เป็นทิพย์

สุมนา
เทวดาผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล



ภันเต
ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้น
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์
คนทั้งสองผู้เป็นมนุษย์เหมือนกันนั้น
จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่ ?

สุมนา
คนทั้งสองนั้นย่อมมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ

มนุษย์ผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ

ด้วยอายุที่เป็นของมนุษย์
วรรณะที่เป็นของมนุษย์
สุขที่เป็นของมนุษย์
ยศที่เป็นของมนุษย์
และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์

สุมนา
มนุษย์ผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล



ภัณเต
ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวชเป็นบรรพชิต
คนทั้งสองผู้เป็นบรรพชิตเหมือนกันนั้น
จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่ ?

สุมนา
คนทั้งสองนั้นย่อมมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ

บรรพชิตผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐาน ๕ ประการ คือ

( ๑ )
เธอใช้สอยจีวร
ส่วนมากเพราะถูกเขาขอร้อง
ที่ไม่ถูกใครขอร้องให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย

( ๒ )
เธอฉันบิณฑบาต
ส่วนมากเพราะถูกเขาขอร้อง
ที่ไม่ถูกใครขอร้องให้ฉันนั้นเป็นส่วนน้อย

( ๓ )
เธอใช้สอยเสนาสนะ
ส่วนมากเพราะถูกเขาขอร้อง
ที่ไม่ถูกใครขอร้องให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย

( ๔ )
เธอบริโภคยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค
ส่วนมากเพราะถูกเขาขอร้อง
ที่ไม่ถูกใครขอร้องให้บริโภคนั้นเป็นส่วนน้อย

( ๕ )
เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด
เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้น
ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม
เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก
ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย

ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยวจีกรรม
เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก
ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย

ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยมโนกรรม
เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก
ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย

ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก
ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย

สุมนา
บรรพชิตผู้เคยให้ทาน
ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยให้ทาน
ด้วยฐาน ๕ ประการเหล่านี้แล



ภัณเต
ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์
คนทั้งสองผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกันนั้น
จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่ ?

สุมนา
ในข้อนี้เราไม่กล่าวว่า
มีความพิเศษแตกต่างกันใด ๆ ในวิมุตติกับวิมุตติ

ภันเต
ข้อนี้น่าอัศจรรย์

ภันเต
ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน

ภันเต
ข้อนี้กำหนดได้ว่า
บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ
เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา
เป็นอุปการะแม้แก่มนุษย์
เป็นอุปการะแม้แก่บรรพชิต

สุมนา
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น

สุมนา
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น

บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ
เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา
เป็นอุปการะแม้แก่มนุษย์
เป็นอุปการะแม้แก่บรรพชิต



ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรไปในอากาศ
ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น
ย่อมรุ่งเรืองกว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ

เมฆที่ลอยไปตามอากาศ
มีสายฟ้าแลบปลาบแปลบ
มีประกายนับร้อย ให้ฝนตกรดแผ่นดิน
ทำให้ที่ดอนและที่ลุ่มมีน้ำเต็ม ฉันใด

สาวกของสัมมาสัมพุทธะ
ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะเป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคทรัพย์

เขาละโลกนี้ไปแล้ว
ย่อมบันเทิงใจอยู่ในสวรรค์ ดังนี้


( บาลี – ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔-๓๖/๓๑ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com