โรคทางกาย กับ โรคทางใจ



ภิกษุทั้งหลาย !
โรคสองอย่างเหล่านี้มีอยู่
สองอย่างอะไรกันเล่า ?

สองอย่างคือ
โรคทางกาย กับ โรคทางใจ

ภิกษุทั้งหลาย !
ย่อมเห็นกันอยู่แล้วว่า
สัตว์ทั้งหลายที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกาย
ตลอด ๑ ปีบ้าง, ๒ ปีบ้าง, ๓ ปีบ้าง,
๔ ปีบ้าง, ๕ ปีบ้าง, ๑๐ ปีบ้าง, ๒๐ ปีบ้าง,
๓๐ ปีบ้าง, ๔๐ ปีบ้าง, ๕๐ ปีบ้าง, ๑๐๐ ปีบ้าง
และที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกาย
ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ก็พอจะหาได้

ภิกษุทั้งหลาย !
แต่หมู่สัตว์ที่จะกล้ายืนยันถึงความไม่มีโรคทางใจ
แม้ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวเว้นแต่พระขีณาสพแล้ว
นับว่าหาได้แสนยากในโลก



ภิกษุทั้งหลาย !
โรคของบรรพชิตสี่อย่างเหล่านี้
สี่อย่างอะไรกันเล่า ?

สี่อย่างคือ

( ๑ )
ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้มักมาก
มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ
ไม่รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร
ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้

( ๒ )
ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก
มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ
ไม่รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร
ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้แล้ว

ย่อมตั้งความปรารถนาลามก
เพื่อจะได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น
และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

( ๓ )
ภิกษุนั้นย่อมวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม
เพื่อจะได้รับการเอาอกเอาใจจากคนอื่น
และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

( ๔ )
ภิกษุนั้นย่อมคิดวางแผนการเข้าสู่สกุล
ย่อมคิดวางแผนการนั่งในสกุล
ย่อมคิดวางแผนการกล่าวธรรมในสกุล
ย่อมคิดวางแผนการทนกลั้นอุจจาระปัสสาวะ
คลุกคลีอยู่ในสกุล

ภิกษุทั้งหลาย !
โรคของบรรพชิตสี่อย่างเหล่านี้แล



ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจว่า

เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก
จักไม่เป็นผู้ร้อนใจเพราะความมักมาก
แต่เป็นผู้รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร
ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ตามมีตามได้

จักไม่ตั้งความปรารถนาลามก
เพื่อให้ได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น
และเพื่อให้ได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

จักไม่วิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม
เพื่อให้ได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น
และเพื่อให้ได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ

จักเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย
ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย
ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ

เป็นผู้อดทนต่อเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ขมขื่นไม่เจริญใจ
ถึงขนาดจะคร่าเอาชีวิตเสียได้ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย !
พวกเธอทั้งหลาย
พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล


( บาลี – จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๑-๑๙๓/๑๕๗ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com