ความมุ่งหมาย
ของคนผู้เป็นศัตรูกัน ๗ ประการ
( โทษของความโกรธ )



ภิกษุทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการเหล่านี้
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

ธรรม ๗ ประการอะไรบ้าง คือ

( ๑ )
ภิกษุทั้งหลาย
คนผู้เป็นศัตรูกันในกรณีนี้
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิวพรรณทรามเถิดหนอ

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันมีผิวพรรณงาม

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด
นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม
แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว
ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม

ภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๒ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันอยู่สบาย

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้จะนอนบนบัลลังก์อันปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์
ปูลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอย่างดี
ทำด้วยหนังชะมด เครื่องปูลาดมีเพดานด้านบน
และมีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้างก็ตาม
แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๓ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีความเจริญเลย

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันมีความเจริญ

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์
แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์
ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
ถือเอาธรรมเหล่านี้อันเป็นศัตรูแก่กันและกันแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
มิใช่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๔ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีโภคทรัพย์เลย

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนที่เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันมีโภคทรัพย์

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้จะมีโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ
เป็นโภคทรัพย์ที่ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม
พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคทรัพย์
ของคนมักโกรธเข้าพระคลังหลวง

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๕ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามียศเลย

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันมียศ

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท
ก็เสื่อมจากยศนั้นได้

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๖ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลนี้อย่ามีมิตรเลย

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนที่เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันมีมิตร

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
แม้เขาจะมีมิตรอำมาตย์ มีญาติสาโลหิต
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตเหล่านั้น
ก็เว้นห่างไกลจากเขาเสีย

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



( ๗ )
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

คนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นศัตรูกันอย่างนี้ว่า
ขอให้บุคคลนี้ ภายหลังจากการตาย
เพราะกายแตกทำลาย
จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเถิด

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะคนที่เป็นศัตรูกัน
ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นศัตรูกันไปสุคติ

ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่มีความโกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย
ประพฤติทุจริตด้วยวาจา
ประพฤติทุจริตด้วยใจ
ภายหลังจากการตาย เพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

ภิกษุทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการเหล่านี้แล
เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นศัตรูกัน
เป็นความต้องการของคนผู้เป็นศัตรูกัน
ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ



ผู้ที่มีความโกรธ
ย่อมมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์
ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว
กลับปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

ผู้ที่มีความโกรธ
ถูกความโกรธครอบงำ
ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจาแล้ว
ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์

ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ
ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหาย
ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล

ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศ
ทำจิตให้กำเริบ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่า
ความโกรธที่เกิดขึ้นภายในนั้นเป็นภัย

คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม
เมื่อใดความโกรธครอบงำนรชน
เมื่อนั้นย่อมมีแต่ความมืดมน

ผู้ที่มีความโกรธ
ย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว
เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้

เมื่อใดความโกรธที่เป็นตัวการให้คนโกรธเกิดขึ้นมา
เมื่อนั้นคนโกรธย่อมแสดงความเป็นผู้-เก้อ-ยากก่อน
เหมือนไฟแสดงควันก่อน ฉันนั้น

ผู้ที่มีความโกรธนั้น
ย่อมไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
และไม่มีความน่าเคารพ
คนที่ถูกความโกรธครอบงำ
ย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย



กรรมเหล่าใด
ยังห่างไกลจากธรรมอันให้เกิดความเดือดร้อน
เราจักบอกกรรมเหล่านั้น

เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ

ผู้ที่มีความโกรธ
ย่อมฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้
ฆ่าพราหมณ์ก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้

บุตรที่มารดาเลี้ยงมาจนได้ลืมตาดูโลกนี้
เขาผู้มีกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาแล้ว
ย่อมฆ่าแม้มารดาผู้ให้ชีวิตตนนั้นเสียก็ได้

แท้จริงแล้ว
สัตว์ทั้งหลายนั้นก็เหมือนกับตนเอง
เพราะ ( สัตว์เหล่านั้น ) ย่อมรักตนเองเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ที่มีความโกรธหมกมุ่นในรูปแบบต่าง ๆ
ย่อมฆ่าตัวเองเพราะเหตุต่าง ๆ ได้ คือ
ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง
เอาเชือกผูกคอตายบ้าง กระโดดเขาตายบ้าง

คนเหล่านั้น
เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อม
และเป็นตัวทำลายตนอยู่
ก็ไม่รู้สึกความเสื่อมเกิดจากความโกรธตามที่กล่าวมา

ความโกรธนี้เป็นบ่วงของมัจจุราช
ซึ่งมีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย มาในรูปของความโกรธ
จึงพึงตัดความโกรธนั้น ด้วยการฝึกตน ( ทมะ )
คือ ด้วยปัญญา ด้วยความเพียร และด้วยสัมมาทิฏฐิ

บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด
พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น
เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า
ขอความเป็นผู้-เก้อ-ยาก อย่าได้มีแก่เราทั้งหลายเลย

บุคคลผู้ปราศจากความโกรธ
ไม่มีความคับแค้นใจ
ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา
ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน


( บาลี – สตฺตก. อํ. ๒๓/๙๖-๑๐๐/๖๑ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com