อนุสัย ๓ และเหตุเกิด



ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย
จึงเกิดจักขุวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอาศัยหูด้วย เสียงทั้งหลายด้วย
จึงเกิดโสตวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอาศัยจมูกด้วย กลิ่นทั้งหลายด้วย
จึงเกิดฆานวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอาศัยลิ้นด้วย รสทั้งหลายด้วย
จึงเกิดชิวหาวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอาศัยกายด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลายด้วย
จึงเกิดกายวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอาศัยใจด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย
จึงเกิดมโนวิญญาณ

การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ
นั่นคือผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง



บุคคลนั้น
เมื่อสุขเวทนาถูกต้องอยู่
ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่
อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอนแก่บุคคลนั้น

เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่
เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ
ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่
อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอนแก่บุคคลนั้น

เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขถูกต้องอยู่
เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริงซึ่งสมุทยะ ( เหตุเกิด )
ของเวทนานั้นด้วย

ซึ่งอัตถังคมะ ( ความดับไม่เหลือ )
แห่งเวทนานั้นด้วย

ซึ่งอัสสาทะ ( รสอร่อย )
ของเวทนานั้นด้วย

ซึ่งอาทีนวะ ( โทษ )
ของเวทนานั้นด้วย

ซึ่งนิสสรณะ ( อุบายเครื่องออกพ้นไป )
ของเวทนานั้นด้วย

อนุสัยคืออวิชชา
ย่อมตามนอนแก่บุคคลนั้น



บุคคลนั้นหนอ
ยังละราคานุสัย
อันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้

ยังบรรเทาปฏิฆานุสัย
อันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้

ยังถอนอวิชชานุสัย
อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้

เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้
และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว
เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ในทิฏฐธรรมนี้ได้นั้น

ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้


( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๕๑๖-๕๑๘/๘๒๒ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com