จะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ต้องอาศัยเวลา



ภิกษุทั้งหลาย
ฐานะ ๔ ประการเหล่านี้
พึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔

ฐานะ ๔ อะไรบ้าง คือ

ภิกษุทั้งหลาย
ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ
และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
และกำลังใจนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
และปัญญานั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้



ภิกษุทั้งหลาย
ก็คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย

ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในกรณีนี้
เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มักทำศีลให้ขาด
มักทำศีลให้ทะลุ
มักทำศีลให้ด่าง
มักทำศีลให้พร้อยตลอดกาลนาน
เป็นผู้ไม่กระทำให้ต่อเนื่อง
ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย
ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่เป็นผู้มีศีล

ภิกษุทั้งหลาย
ส่วนบุคคลบางคนในกรณีนี้
เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มีปกติไม่ทำศีลให้ขาด
ไม่ทำศีลให้ทะลุ
ไม่ทำศีลให้ด่าง
ไม่ทำศีลให้พร้อยตลอดกาลนาน
เป็นผู้มีปกติทำให้ต่อเนื่อง
ประพฤติให้ต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย
ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล ไม่ใช่เป็นผู้ทุศีล

ภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้



ภิกษุทั้งหลาย
ก็คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ
และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย

ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในกรณีนี้
สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกันสองต่อสองเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกันสามคนเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกันหลายคนเป็นอย่างหนึ่ง
ท่านผู้นี้คำที่พูดทีหลังแตกต่างไปจากคำที่พูดไว้ก่อนหน้า
ท่านผู้นี้มีถ้อยคำที่ไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้ไม่มีถ้อยคำที่บริสุทธิ์

ภิกษุทั้งหลาย
ส่วนบุคคลบางคนในกรณีนี้
เมื่อสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างไร
พูดกันสองคน สามคน หลายคนก็เป็นอย่างนั้น
ท่านผู้นี้คำพูดทีหลังไม่แตกต่างไปจากคำที่พูดไว้ก่อนหน้า
ท่านผู้นี้มีถ้อยคำที่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้ไม่มีถ้อยคำที่ไม่บริสุทธิ์

ภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ
และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้



ภิกษุทั้งหลาย
ก็คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
และกำลังใจนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย

ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในกรณีนี้
กระทบกับความเสื่อมแห่งญาติ
กระทบกับความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
หรือกระทบกับความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่า
โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นเอง
ในโลกสันนิวาสเป็นอย่างนั้นเอง
ในการได้อัตภาพเป็นอย่างนั้นเอง

โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ คือ
ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ดังนี้

บุคคลนั้นเมื่อกระทบกับความเสื่อมแห่งญาติ
กระทบกับความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
หรือกระทบกับความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไรรำพัน
ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล

ภิกษุทั้งหลาย
ส่วนบุคคลบางคนในกรณีนี้
กระทบกับความเสื่อมแห่งญาติ
กระทบกับความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
หรือกระทบกับความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า
โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นเอง
ในโลกสันนิวาสเป็นอย่างนั้นเอง
ในการได้อัตภาพเป็นอย่างนั้นเอง

โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ คือ
ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ดังนี้

บุคคลนั้นกระทบกับความเสื่อมแห่งญาติ
กระทบกับความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
หรือกระทบกับความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไรรำพัน
ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล

ภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
และกำลังใจนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้



ภิกษุทั้งหลาย
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
และปัญญานั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย

ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในกรณีนี้
สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
อภินิหารของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
และการถามปัญหาของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
ท่านผู้นี้ทรามปัญญา ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทที่มีความหมายอันลึกซึ้ง
ที่สงบระงับ ประณีต ไม่หยั่งลงง่ายแห่งความตรึก
ละเอียดอ่อน อันบัณฑิตจะพึงรู้ได้

และท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด
ก็ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย
จำแนก กระทำให้ตื้นซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้
ไม่ว่าโดยย่อหรือโดยพิสดาร
ท่านผู้นี้ทรามปัญญา ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ
เมื่อเห็นปลาเล็ก ๆ ผุดอยู่ เขาก็ทราบได้ว่า
กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร
ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหนและมีความเร็วเพียงไร
ปลาตัวนี้เล็ก ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น
บุคคลเมื่อสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
อภินิหารของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
และการถามปัญหาของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
ท่านผู้นี้ทรามปัญญา ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย
ส่วนบุคคลบางคนในกรณีนี้
สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
อภินิหารของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
การถามปัญหาของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา ท่านผู้นี้ไม่เป็นผู้ทรามปัญญา

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะท่านผู้นี้ย่อมอ้างบทที่มีความหมายอันลึกซึ้ง
ที่สงบระงับ ประณีต ไม่หยั่งลงง่ายแห่งความตรึก
ละเอียดอ่อน อันบัณฑิตจะพึงรู้ได้

และท่านผู้นี้กล่าวธรรมใด
ก็เป็นผู้สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย
จำแนก กระทำให้ตื้นซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้
ไม่ว่าโดยย่อหรือโดยพิสดาร
ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา ท่านผู้นี้ไม่เป็นผู้ทรามปัญญา ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ
เมื่อเห็นปลาตัวใหญ่กำลังผุดอยู่ เขาก็ทราบได้ว่า
กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร
ทำให้เกิดคลื่นได้เพียงไหนและมีความเร็วเพียงไร
ปลาตัวนี้ใหญ่ ไม่ใช่ปลาตัวเล็ก ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น
บุคคลสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
อภินิหารของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
การถามปัญหาของท่านผู้นี้เป็นอย่างไร
ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่เป็นผู้ทรามปัญญา ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
และปัญญานั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่กาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้
คนมีปัญญาจึงจะรู้ได้ คนทรามปัญญาก็ไม่รู้

ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้

ภิกษุทั้งหลาย
ฐานะ ๔ ประการเหล่านี้แล พึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ นี้


( บาลี – จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๕๔-๒๕๙/๑๙๒ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com