ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ



ภิกษุทั้งหลาย !
สิ่งที่ใช้เป็นพืชมีห้าอย่างเหล่านี้

ห้าอย่าง เหล่าไหนเล่า ?

ห้าอย่าง คือ พืชจากเหง้าหรือราก พืชจากต้น
พืชจากตาหรือผล พืชจากยอด พืชจากเมล็ด

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านี้
ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย
ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด

ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่
และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี แต่ดิน น้ำ ไม่มี

ภิกษุทั้งหลาย !
สิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านั้น
จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ ?

หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านี้แหละ
ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย
ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด

ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่
และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี ทั้งดิน น้ำ ก็มีด้วย

ภิกษุทั้งหลาย !
สิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านั้น
จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ ?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !



ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณฐิติสี่อย่าง
พึงเห็นว่าเหมือนกับดิน

ภิกษุทั้งหลาย !
นันทิ ราคะ
พึงเห็นว่าเหมือนกับนํ้า

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณซึ่งประกอบด้วยปัจจัย
พึงเห็นว่าเหมือนกับพืชสดทั้งห้านั้น

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้

เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์
มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ

ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้

เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์
มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ

ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้

เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์
มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ

ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้

เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์
มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ

ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้



ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า

เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป
การจุติ การอุบัติ
ความเจริญ ความงอกงาม
และความไพบูลย์ของวิญญาณ

โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา
เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น

นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ
ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ
ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว

เพราะละราคะได้
อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง
ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี

วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม
หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง

เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น

เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง

เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว

เมื่อไม่หวั่นไหว
ก็ปรินิพพานเฉพาะตน

ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก


( บาลี – ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗-๖๘/๑๐๖-๑๐๗ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com