ตาบอดคลำช้าง



ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก
ครองจีวรถือบาตรเข้าไปสู่เมืองสาวัตถี
เพื่อบิณฑบาตในเวลาเช้า กลับจากบิณฑบาตแล้ว
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
ในเมืองสาวัตถีนี้มีสมณพราหมณ์ปริพพาชก
ผู้มีทิฏฐิต่าง ๆ กันเป็นอันมากอาศัยอยู่
ล้วนแต่มีทิฏฐิต่าง ๆ กัน มีความชอบใจต่าง ๆ กัน
มีความพอใจต่าง ๆ กัน อาศัยทิฏฐิต่าง ๆ กัน

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
โลกเที่ยงเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
โลกไม่เที่ยงเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
โลกมีที่สุดเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
โลกไม่มีที่สุดเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นเท่านั้นเป็นคำจริง
คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่นเท่านั้นเป็นคำจริง
คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว
ย่อมมีอีกเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว
ย่อมไม่มีอีกเท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว
ย่อมมีอีกก็มี ย่อมไม่มีอีกก็มีเท่านั้นเป็นคำจริง
คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์บางพวก
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว
ย่อมมีอีกก็หามิได้ ย่อมไม่มีอีกก็หามิได้เท่านั้นเป็นคำจริง
คำอื่นเป็นโมฆะ

สมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น
เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ทิ่มแทงซึ่งกันและกันอยู่ด้วยหอกคือปากทั้งหลายว่า
ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้
ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนี้ อยู่ดังนี้



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ปริพพาชกทั้งหลาย
ผู้เป็นเจ้าลัทธิอื่น ๆ เหล่านั้น เป็นคนบอดไร้จักษุ
จึงไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ทิ่มแทงซึ่งกันและกันอยู่ด้วยหอกคือปากทั้งหลายว่า

ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้
ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนี้ อยู่ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรื่องเคยมีมาแล้วในเมืองสาวัตถีนี้เอง
มีพระราชาองค์หนึ่ง ตรัสกะราชบุรุษคนหนึ่งว่า

มานี่ซิ บุรุษผู้เจริญ !
คนตาบอดแต่กำเนิดในเมืองสาวัตถีนี้
มีประมาณเท่าใด ท่านจงให้คนทั้งหมดนั้น
มาประชุมกันในที่แห่งหนึ่ง

บุรุษนั้นทำตามพระประสงค์แล้ว
พระราชานั้นได้ตรัสสั่งกะบุรุษนั้นว่า

ดูก่อนพนาย !
ถ้าอย่างนั้นท่านจงแสดงซึ่งช้าง
แก่คนตาบอดแต่กำเนิดเถิด

ราชบุรุษนั้นได้ทำตามพระประสงค์
โดยการให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งศีรษะช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งหูช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งงาช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งงวงช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งกายช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งเท้าช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งหลังช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งโคนหางช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง

ให้คนตาบอดแต่กำเนิดพวกหนึ่ง
คลำซึ่งพวงหางช้าง พร้อมกับบอกว่านี่แหละช้าง ดังนี้

ครั้งบุรุษนั้นแสดงซึ่งช้าง
แก่พวกคนตาบอดแต่กำเนิดดังนั้นแล้ว
ได้เข้าไปกราบทูลพระราชาว่า
พวกคนตาบอดแต่กำเนิดเหล่านั้นได้เห็นช้างแล้ว

ข้าแต่เทวะ !
ขอพระองค์จงทรงทราบ
ซึ่งสิ่งอันพึงกระทำต่อไปในกาลนี้เถิด พระเจ้าข้า !

พระราชาได้เสด็จไปสู่ที่ประชุม
แห่งคนตาบอดแต่กำเนิด แล้วตรัสว่า

พ่อบอดทั้งหลาย !
พ่อเห็นช้างแล้วหรือ ?

ครั้นได้ทรงรับคำตอบว่าเห็นแล้ว จึงตรัสว่า
ถ้าเห็นแล้วพ่อบอดทั้งหลายจงกล่าวดูทีว่า
ช้างนั้นเป็นอย่างไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
คนตาบอดพวกใดได้คลำศีรษะช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนหม้อ

คนตาบอดพวกใดได้คลำหูช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนกระด้ง

คนตาบอดพวกใดได้คลำงาช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนผาล

คนตาบอดพวกใดได้คลำงวงช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนงอนไถ

คนตาบอดพวกใดได้คลำกายช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนพ้อม

คนตาบอดพวกใดได้คลำเท้าช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนเสา

คนตาบอดพวกใดได้คลำหลังช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนครกกระเดื่อง

คนตาบอดพวกใดได้คลำโคนหางช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนสากตำข้าว

คนตาบอดพวกใดได้คลำพวงหางช้าง ก็กล่าวว่า
ข้าแต่เทวราชเจ้า ช้างเหมือนไม้กวาด

คนตาบอดแต่กำเนิดทั้งหลายเหล่านั้น
เถียงกันอยู่ว่าช้างเป็นอย่างนี้ ช้างมิใช่อย่างนี้บ้าง
ช้างมิใช่อย่างนี้ ช้างเป็นอย่างนี้ต่างหาก ดังนี้บ้าง
ได้ประหารซึ่งกันและกันด้วยกำหมัดทั้งหลาย



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
พระราชามีความพอพระทัยเป็นอันมากด้วยเหตุนั้น

นี้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ

ปริพพาชกทั้งหลาย
ผู้เป็นเจ้าลัทธิอื่น ๆ เหล่านั้น เป็นคนบอดไร้จักษุ
จึงไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ทิ่มแทงซึ่งกันและกันอยู่ด้วยหอกคือปากทั้งหลายว่า

ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้
ธรรมมิใช่เป็นอย่างนี้ธรรมเป็นอย่างนี้ อยู่ดังนี้

ลำดับนั้นแล
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้สึกความข้อนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

สมณพราหมณ์ทั้งหลายพวกหนึ่ง ๆ
ย่อมข้องอยู่ในทิฏฐิหนึ่ง ๆ แห่งทิฏฐิทั้งหลายเหล่านี้
ชนทั้งหลายผู้มีความเห็นแล่นไปสู่ที่สุดข้างหนึ่ง ๆ
ถือเอาซึ่งทิฏฐิต่างกันแล้ว ย่อมวิวาทกันเพราะเหตุนั้น
ดังนี้ แล


( บาลี – อุ.ขุ. ๒๕/๑๘๑- ๑๘๕/๑๓๗-๑๓๘ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com