ความพยายามที่มีผล
ความเพียรที่มีผล



ภิกษุทั้งหลาย
ความพยายามที่มีผล ความเพียรที่มีผล
เป็นอย่างไร คือ

ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในกรณีนี้
ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม
ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม
ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น

เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า
ถึงเรานี้จักยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการตั้งความเพียรนั้น

อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ

เธอนั้นจึงเริ่มตั้งความเพียร
อย่างที่ภิกษุผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการเริ่มตั้งความเพียรนั้น

อนึ่ง เธอนั้นบำเพ็ญอุเบกขา
อย่างที่ภิกษุผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ

เมื่อเธอนั้นผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการตั้งความเพียรนั้น
แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว

อนึ่ง เมื่อเธอนั้นผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ
แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันภิกษุนั้นสลัดได้แล้ว



ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนชายผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์
พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้า
ในหญิงคนหนึ่ง เขาเห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น

ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร
ความเศร้าโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย
ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายคนนั้น เพราะได้เห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่นบ้างหรือไม่

ต้องเป็นเช่นนั้น ภันเต

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภันเต
เพราะชายคนนั้นกำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์
พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้า
ในหญิงคนนั้น ดังนั้น ความเศร้าโศก ความรำพัน
ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
จึงเกิดขึ้นแก่เขาได้ เพราะได้เห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น

ภิกษุทั้งหลาย
ต่อมาชายคนนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
เรากำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์พอใจอย่างแรงกล้า
มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนนั้น
ความเศร้าโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย
ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
จึงเกิดขึ้นแก่เราได้ เพราะเห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น

ถ้าอย่างไร
เราพึงละความกำหนัดพอใจ
ในหญิงคนนั้นที่เรามีเสียเถิด
เขาจึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนนั้นเสีย

สมัยต่อมา เขาได้เห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น

ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร
ความเศร้าโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย
ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายนั้น เพราะได้เห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่นบ้างหรือไม่

ไม่เป็นอย่างนั้น ภันเต

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภันเต
เพราะชายคนนั้นคลายกำหนัดในหญิงคนนั้นแล้ว
ดังนั้น ความเศร้าโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย
ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
จึงไม่เกิดขึ้นแก่เขา เพราะการได้เห็นหญิงนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น

ภิกษุทั้งหลาย
ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ภิกษุไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม
ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม
ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น

เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า

ถึงเรานี้จักยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการตั้งความเพียรนั้น

อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ

เธอนั้นจึงเริ่มตั้งความเพียร
อย่างที่ภิกษุผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการเริ่มตั้งความเพียรนั้น

อนึ่ง เธอนั้นบำเพ็ญอุเบกขา
อย่างที่ภิกษุผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ

เมื่อเธอนั้นผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เริ่มตั้งความเพียร
ย่อมมีวิราคะเพราะการตั้งความเพียรนั้น
แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว

อนึ่ง เมื่อเธอนั้นผู้ยังมีเหตุแห่งทุกข์
เมื่อวางเฉย คือ บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ก็ย่อมมีวิราคะ
แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันภิกษุนั้นสลัดได้แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย
ความพยายามที่มีผล ความเพียรที่มีผล
เป็นอย่างนี้แล



ภิกษุทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง
ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

เมื่อเราอยู่ตามสบาย
อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบาก
อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง

ถ้าอย่างไร
เราพึงเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากเถิด

เธอจึงเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบาก
เมื่อเธอเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอยู่
อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง

สมัยต่อมา
เธอก็ไม่ต้องเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอีก

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
เพราะภิกษุนั้น
เริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของเธอเป็นอันสำเร็จแล้ว

ดังนั้น สมัยต่อมา
เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอีก



ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนช่างศรย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน
เพื่อดัดให้ตรงจนใช้การได้

เพราะเหตุที่ลูกศร
เป็นของอันช่างศรย่างลนบนข่าไฟ ๒ อัน
เพื่อดัดให้ตรงจนใช้การได้แล้ว

สมัยต่อมา
ช่างศรนั้นก็ไม่ต้องย่างลนลูกศรนั้น
บนข่าไฟ ๒ อันเพื่อดัดให้ตรงอีก

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
เพราะช่างศรนั้นพึงย่างลนลูกศร
บนข่าไฟ ๒ อันเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของเขาเป็นอันสำเร็จแล้ว

ดังนั้น สมัยต่อมา
ช่างศรจึงไม่ต้องย่างลนลูกศร
บนข่าไฟ ๒ อันเพื่อดัดให้ตรงอีก

ภิกษุทั้งหลาย
ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

เมื่อเราอยู่ตามสบาย
อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบาก
อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง

ถ้าอย่างไร
เราพึงเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากเถิด

เธอจึงเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบาก
เมื่อเธอเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอยู่
อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง

สมัยต่อมา
เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอีก

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภิกษุทั้งหลาย
เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของเธอเป็นอันสำเร็จแล้ว

ดังนั้น สมัยต่อมา
เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนไว้ในความลำบากอีก

ภิกษุทั้งหลาย
ความพยายามที่มีผล ความเพียรที่มีผล
เป็นอย่างนี้แล


( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๑๓-๑๗/๑๒-๑๕ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com