อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนือง ๆ



ภิกษุทั้งหลาย !
อานิสงส์สี่ประการแห่งธรรมทั้งหลาย
ที่บุคคลฟังเนือง ๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

อานิสงส์สี่ประการเป็นไฉน ?

( ๑ )
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลาย
ที่บุคคลฟังเนือง ๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้



( ๒ )
อีกประการหนึ่ง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล
พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย
หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ
ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่าเสียงกลองทีเดียว

ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลาย
ที่ภิกษุฟังเนือง ๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้



( ๓ )
อีกประการหนึ่ง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล
พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัย
หรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ
ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่าเสียงสังข์ทีเดียว

ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลาย
ที่ภิกษุฟังเนือง ๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้



( ๔ )
อีกประการหนึ่ง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า
ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน
เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้นฤทุกข์ สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

ภิกษุทั้งหลาย !
สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน
เขามาพบกันบางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง
สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า
สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ
เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้

ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ
สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนือง ๆ
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย

ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต
ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท

แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า
ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า
เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน
เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้นฤทุกข์ สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน


ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลาย
ที่ภิกษุฟังเนือง ๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้



ภิกษุทั้งหลาย !
อานิสงส์สี่ประการนี้แห่งธรรมทั้งหลาย
ที่ภิกษุฟังแล้วเนือง ๆ คล่องปากขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้


( บาลี – จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๕๑-๒๕๔/๑๙๑ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com