ลักษณะของผู้ตั้งจิต
ในกายคตาสติ



ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด
ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน คือ

พึงจับงู จระเข้ นก
สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง
แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น

ครั้นแล้ว
พึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง
ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น
ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน
พึงดึงมาสู่โคจรและวิสัยของตน ๆ คือ

งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก

จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักลงแม่น้ำ

นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักบินขึ้นสู่อากาศ

สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักเข้าไปบ้าน

สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักเข้าสู่ป่าช้า

ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า
เราจักเข้าไปสู่ป่า

ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น
ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงลำบาก

เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้นพึงยืนแนบ
นั่งแนบ นอนแนบหลักหรือเสานั้นเอง



แม้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง อบรม
กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ตาย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในรูปอันเป็นที่พอใจ
รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

หูย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในเสียงอันเป็นที่พอใจ
เสียงอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

จมูกย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในกลิ่นอันเป็นที่พอใจ
กลิ่นอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

ลิ้นย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในรสอันเป็นที่พอใจ
รสอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

กายย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจ
โผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

ใจย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น
ไปในธรรมอันเป็นที่พอใจ
ธรรมอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล

ภิกษุทั้งหลาย
ความสำรวม ( สังวร )
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล



ภิกษุทั้งหลาย
คำว่าหลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น
เป็นชื่อของกายคตาสติ

เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

กายคตาสติ
เราทั้งหลายจักอบรม
กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นดังยาน
กระทำให้เป็นที่ตั้ง
ให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล


( บาลี – สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๘-๒๔๙/๓๕๐ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com