ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล



สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง
อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา
แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย ว่า

ภิกษุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้น
อันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา

เห็น พระเจ้าข้า

ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น
จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก
ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้
ไม่ถูกน้ำวน ๆ ไว้
จักไม่เน่าในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล
ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

เพราะเหตุว่า
กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร

ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น
ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก
ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้
ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้
จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้

ด้วยประการดังกล่าวมานี้
ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

เพราะเหตุว่า
สัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน

ก็ฉันนั้นเหมือนกัน



เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ฝั่งนี้ได้แก่อะไร ฝั่งโน้นได้แก่อะไร
การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร
การเกยบนบกได้แก่อะไร
มนุษย์ผู้จับคืออะไร อมนุษย์ผู้จับคืออะไร
เกลียวน้ำวน ๆ ไว้คืออะไร
ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุ
คำว่า ฝั่งนี้
เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖

คำว่า ฝั่งโน้น
เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖

คำว่า จมในท่ามกลาง
เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ

คำว่า เกยบก
เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

คำว่า ถูกมนุษย์จับไว้
ได้แก่ ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน
โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์
เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา
ภิกษุนี้เรียกว่า ถูกมนุษย์จับไว้

คำว่า ถูกอมนุษย์จับไว้
ได้แก่ ภิกษุบางรูปในกรณีนี้
ย่อมประพฤติพรหมจรรย์
ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า
ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้
เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
ภิกษุนี้เรียกว่า ถูกอมนุษย์จับไว้

คำว่า เกลียวน้ำวน ๆ ไว้
เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕

ภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด
มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้
ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ
ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี
เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม
เป็นดุจขยะมูลฝอย
ภิกษุนี้เรียกว่า ความเป็นผู้เน่าในภายใน


( บาลี – สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓-๒๒๕/๓๒๒-๓๒๓ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com