ตถาคตย่อมแสดงธรรม
โดยทางสายกลาง



ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่กล่าวกันว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ดังนี้
อันว่าสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
พระเจ้าข้า

กัจจานะ
สัตว์โลกนี้อาศัยแล้วซึ่งส่วนสุดทั้งสองโดยมาก
คือส่วนสุดว่า อัตถิตา
และส่วนสุดว่า นัตถิตา

กัจจานะ
ส่วนสุดว่า นัตถิตา
ย่อมไม่มีแก่บุคคล
ผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง
ซึ่งธรรมคือ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งโลก

กัจจานะ
ส่วนสุดว่า อัตถิตา
ย่อมไม่มีแก่บุคคล
ผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง
ซึ่งธรรมคือ ความดับไม่เหลือแห่งโลก

กัจจานะ
สัตว์โลกนี้โดยมาก
ถูกผูกพันแล้วด้วยตัณหา
ด้วยอุปาทาน ด้วยทิฏฐิ
แต่อริยสาวกนี้ ไม่เข้าถึง ไม่ถือเอา
ไม่ถึงทับซึ่งตัณหาและอุปาทาน
อันเป็นเครื่องถึงทับแห่งใจ
อันเป็นอนุสัยแห่งทิฏฐิว่าอัตตาของเรา ดังนี้

ย่อมไม่สงสัย
ย่อมไม่ลังเลในข้อที่ว่า
เมื่อจะเกิดทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น
เมื่อจะดับทุกข์เท่านั้นย่อมดับ ดังนี้
ญาณในข้อนี้ย่อมมีแก่อริยสาวกนั้น
โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น

กัจจานะ
สัมมาทิฏฐิ
ย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล



กัจจานะ
คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า
สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ดังนี้
นี้เป็นส่วนสุดที่หนึ่ง

คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า
สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่ ดังนี้
นี้เป็นส่วนสุดที่สอง

กัจจานะ
ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง
ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้น คือ

ตถาคตย่อมแสดง ดังนี้ว่า

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย
จึงมีสังขารทั้งหลาย

เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย
จึงมีวิญญาณ

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย
จึงมีนามรูป

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย
จึงมีสฬายตนะ

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย
จึงมีผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย
จึงมีเวทนา

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย
จึงมีตัณหา

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย
จึงมีอุปาทาน

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย
จึงมีภพ

เพราะมีภพเป็นปัจจัย
จึงมีชาติ

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาสะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน

ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

เพราะความจางคลายดับไป
โดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว
จึงมีความดับแห่งสังขาร

เพราะมีความดับแห่งสังขาร
จึงมีความดับแห่งวิญญาณ

เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ
จึงมีความดับแห่งนามรูป

เพราะมีความดับแห่งนามรูป
จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ

เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ
จึงมีความดับแห่งผัสสะ

เพราะมีความดับแห่งผัสสะ
จึงมีความดับแห่งเวทนา

เพราะมีความดับแห่งเวทนา
จึงมีความดับแห่งตัณหา

เพราะมีความดับแห่งตัณหา
จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน
จึงมีความดับแห่งภพ

เพราะมีความดับแห่งภพ
จึงมีความดับแห่งชาติ

เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาสะทั้งหลายจึงดับสิ้น

ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล


( บาลี – นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐-๒๑/๔๒-๔๔ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com