การวางจิตเมื่อให้ทาน



สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา เขตจัมปานคร
ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน
เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

ภันเต
ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค
พวกกระผมได้ฟังเมื่อนานมาแล้ว ขอได้โปรดเถิด
พวกกระผมขอได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

อาวุโสทั้งหลาย
ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ
ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถา
ในสำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน

อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตร
แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

ต่อมาถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวเมืองจัมปา
พากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ภันเต มีไหมหนอ
ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

และมีไหมหนอ
ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

สารีบุตร
ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก มีอยู่

และทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก และมีอานิสงส์มากก็มีอยู่

ภันเต
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้
ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

และอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้
ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้ให้แล้วเช่นนั้น
มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยมีความหวังผล
ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

สารีบุตร
เธอจะสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุคคลบางคนในกรณีนี้ พึงให้ทานอย่างนี้ใช่ไหม

เป็นอย่างนั้น ภันเต

สารีบุตร
ในการให้ทานนั้น
บุคคลผู้ให้ทานโดยมีความหวังผล
ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้

เขาให้ทานอย่างนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นจาตุมหาราชิกา

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้

แต่เขาให้ทานโดยคิดว่า
การให้ทานเป็นการดี

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นดาวดึงส์

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

แต่เขาให้ทานโดยคิดว่า
บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นยามา

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

แต่เขาให้ทานโดยคิดว่า
เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นดุสิต

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราหุงหากินได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

แต่เขาให้ทานโดยคิดว่า
เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ
อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี
ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี
กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นนิมมานรดี

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราหุงหากินได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

ให้ทานโดยไม่คิดว่า
เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ
อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี
ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี
กัสสปฤาษี ภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว

แต่เขาให้ทานโดยคิดว่า
เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส
เกิดความปลื้มใจและโสมนัส

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราหุงหากินได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

ให้ทานโดยไม่คิดว่า
เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ
อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี
ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี
กัสสปฤาษี ภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว

ให้ทานโดยไม่คิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้
จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่เขาให้ทาน
เป็นเครื่องประดับจิต เป็นบริขารของจิต

เขาจึงให้ทาน คือ
ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์

สารีบุตร
เธอจะสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุคคลบางคนในกรณีนี้ พึงให้ทานอย่างนี้ใช่ไหม

เป็นอย่างนั้น ภันเต

สารีบุตร
ในการให้ทานนั้น
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม
ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้
ให้ทานโดยไม่คิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย
เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราหุงหากินได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้
เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

ให้ทานโดยไม่คิดว่า
เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ
อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี
ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี
กัสสปฤาษี ภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว

ให้ทานโดยไม่คิดว่า
เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส
เกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่เขาให้ทาน
เป็นเครื่องประดับจิต เป็นบริขารของจิต

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
ภายหลังจากการตายเพราะกายแตกทำลาย
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา
ชั้นพรหมกายิกา

ครั้นเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว
เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้



สารีบุตร
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ที่ทำให้ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้แล้วเช่นนั้น มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

และนี้แลเป็นปัจจัย
ที่ทำให้ทานที่บุคคลบางคนในกรณีนี้
ให้แล้วเช่นนั้น มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก


( บาลี – สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐-๖๔/๔๙ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com