ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ
( สอนธรรมะฆราวาสที่ใกล้เสียชีวิต )



ภันเต เรื่องนี้ข้าพระองค์ยังไม่ได้ฟัง
ยังไม่ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอน
อุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก

มหานาม
อุบาสกผู้มีปัญญา
พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา
ผู้ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ ว่า

( ๑ )
ท่านจงเบาใจเถิดว่า
ท่านมีความเลื่อมใส
อย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ว่า

เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ
พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส
ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

( ๒ )
ท่านจงเบาใจเถิดว่า
ท่านมีความเลื่อมใส
อย่างไม่หวั่นไหวในพระธรรม ว่า

พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่ามจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

( ๓ )
ท่านจงเบาใจเถิดว่า
ท่านมีความเลื่อมใส
อย่างไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ว่า

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติให้รู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ
คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ

นั่นแหละ คือ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
เป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน
เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี
เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

( ๔ )
ท่านจงเบาใจเถิดว่า
ท่านมีศีลทั้งหลายที่พระอริยะชอบใจ

เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา
เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ
เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ
และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ ดังนี้



มหานาม
อุบาสกผู้มีปัญญา
ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา
ผู้ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว

พึงถามเขาอย่างนี้ว่า
ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ ?

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา
ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใย
ในมารดาและบิดา ก็จักตายไป
ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใย
ในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน

ขอท่านจงละความห่วงใย
ในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า
ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่หรือ ?

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา
ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใย
ในบุตรและภรรยา ก็จักตายไป
ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใย
ในบุตรและภรรยา ก็จักตายไปเหมือนกัน

ขอท่านจงละความห่วงใย
ในบุตรและภรรยาของท่านเสียเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เราละความห่วงใยในบุตรและภรรยาของเราแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า
ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕
อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ ?

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕
อันเป็นของมนุษย์อยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า
ประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาแล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พวกเทวดาชั้นยามายังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นยามาเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นยามาแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พวกเทวดาชั้นดุสิตยังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นยามา

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นยามา
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นดุสิตเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นยามาแล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นดุสิตแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พวกเทวดาชั้นนิมมานรดียังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นดุสิต

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นดุสิต
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นนิมมานรดีเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นดุสิตแล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นนิมมานรดีแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นนิมมานรดี

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นนิมมานรดี
แล้วน้อมจิตไปในพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นนิมมานรดีแล้ว
จิตของเราน้อมไปในพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
พรหมโลกยังดีกว่า
ประณีตกว่าพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
แล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว
จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว



มหานาม
อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง
ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ

ขอท่านจงพรากจิต
ให้ออกจากพรหมโลก
แล้วนำจิตเข้าไปในความดับแห่งสักกายะเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า
จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว
เรานำจิตเข้าไปในความดับแห่งสักกายะแล้ว

มหานาม
เราไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสก
ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี
คือ พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน


( บาลี – มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๑๓-๕๑๖/๑๖๒๗-๑๖๓๓ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com