ธรรมอันไม่เป็นที่สบาย
แก่ผู้น้อมไปแล้วในนิพพาน
สุนักขัตตะ !
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ คือจะมีภิกษุบางรูปในกรณีนี้
มีความเข้าใจของตน
มีความหมายอันสรุปได้อย่างนี้ เป็นต้นว่าตัณหานั้น สมณะกล่าวกันว่าเป็นลูกศร
โทษอันมีพิษของอวิชชาย่อมงอกงาม
เพราะฉันทราคะและพยาบาท
ลูกศรคือตัณหานั้น เราละได้แล้ว
โทษอันมีพิษของอวิชชา เราก็นำออกไปหมดแล้ว
เราเป็นผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ ดังนี้…
แต่เธอนั้น
ย่อมตามประกอบซึ่งธรรมทั้งหลาย
อันไม่เป็นที่สบายแก่ผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ คือตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย
ในการเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู
ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ
อันล้วนไม่เป็นที่สบายเมื่อเธอตามประกอบซึ่งธรรม
อันไม่เป็นที่สบายเหล่านี้อยู่
ราคะย่อมเสียบแทงจิตของเธอ
เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว
ย่อมถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย
สุนักขัตตะ !
เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศร
อันอาบไว้ด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา
จัดหาหมอผ่าตัดมารักษาหมอได้ใช้ศัสตราชำแหละปากแผลของเขา
แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร
พบแล้วถอนลูกศรออก
กำจัดโทษอันเป็นพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่
จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่
แล้วกล่าวแก่เขา อย่างนี้ว่าบุรุษผู้เจริญ !
ลูกศรถูกถอนออกแล้ว
โทษอันเป็นพิษ
เรานำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว
ท่านไม่มีอันตรายอีกแล้ว
และท่านจะบริโภคอาหารได้ตามสบาย
แต่อย่าไปกินอาหารชนิดที่ไม่สบายแก่แผล
อันจะทำให้แผลอักเสบและจงล้างแผลตามเวลา
ทายาที่ปากแผลตามเวลา
เมื่อท่านล้างแผลตามเวลา
ทายาที่ปากแผลตามเวลา
อย่าให้หนองและเลือดเกรอะกรังปากแผล
และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดด
เมื่อเที่ยวตากลมตากแดด ก็อย่าให้ฝุ่นละออง
และของโสโครกเข้าไปในปากแผลบุรุษผู้เจริญ !
ท่านจงเป็นผู้ระวังรักษาแผล
มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญเถอะนะ ดังนี้…
บุรุษนั้นมีความคิดว่า
หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว
โทษอันเป็นพิษ
หมอก็นำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว
เราหมดอันตรายเขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง
เมื่อบริโภคโภชนะที่แสลง แผลก็กำเริบ
และเขาไม่ชะแผลตามเวลา
ไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา
เมื่อเขาไม่ชะแผลตามเวลา
ไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา
หนองและเลือดก็เกรอะกรังปากแผล
และเขาเที่ยวตากลมตากแดด
ปล่อยให้ฝุ่นละอองของโสโครกเข้าไปในปากแผล
และเขาไม่ระวังรักษาแผล
ไม่มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญ
เขานำโทษพิษอันไม่สะอาดออกไปด้วยการกระทำอันไม่ถูกต้องเหล่านี้
แผลจึงมีเชื้อเหลืออยู่
แผลก็บวมขึ้น เพราะเหตุทั้งสองนั้นบุรุษนั้นมีแผลบวมแล้ว
ก็ถึงซึ่งความตายบ้าง
หรือความทุกข์เจียนตายบ้าง นี้ฉันใด…
สุนักขัตตะ !
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือข้อที่ภิกษุบางรูป
สำคัญตนว่าน้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ
แต่ตามประกอบในธรรมไม่เป็นที่สบาย
แก่การน้อมไปในนิพพานโดยชอบ คือตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย
ในการเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู
ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ
อันล้วนไม่เป็นที่สบายเมื่อเธอตามประกอบซึ่งธรรม
อันไม่เป็นที่สบายเหล่านี้อยู่
ราคะย่อมเสียบแทงจิตของเธอ
เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว
ย่อมถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย…
สุนักขัตตะ !
ในอริยวินัยนี้ความตายหมายถึง
การบอกคืนสิกขาเวียนไปสู่เพศต่ำ
ความทุกข์เจียนตายหมายถึง
การต้องอาบัติอันเศร้าหมอง อย่างใดอย่างหนึ่งแล
( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๖๖-๖๙/๗๖ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้