ผู้มีจิตหลุดพ้นตายแล้วสูญหรือ



ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !

ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วจะไปเกิดในที่ใด ?

วัจฉะ !
ที่ใช้คำพูดว่าจะไปเกิดนั้น ไม่ควรเลย

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าเช่นนั้นจะไม่ไปเกิดหรือ ?

วัจฉะ !
ที่ใช้คำพูดว่าจะไม่ไปเกิดนั้น ก็ไม่ควร

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าเช่นนั้นบางทีเกิด บางทีไม่เกิด กระนั้นหรือ ?

วัจฉะ !
ที่ใช้คำพูดว่าบางทีเกิด บางทีไม่เกิดนั้น ก็ไม่ควร

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าเช่นนั้นภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว
จะว่าไปเกิดก็ไม่ใช่ ไม่ไปเกิดก็ไม่ใช่ กระนั้นหรือ ?

วัจฉะ !
ที่ใช้คำพูดว่าจะไปเกิดก็ไม่ใช่
ไม่ไปเกิดก็ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ไม่ควร

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ข้อที่พระองค์ตรัสตอบนี้
ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องเสียแล้ว
ทำให้ข้าพเจ้าวนเวียนเสียแล้ว

แม้ความเลื่อมใสที่ข้าพเจ้ามีแล้วต่อพระองค์
ในการตรัสไว้ตอนต้น ๆ บัดนี้ก็ได้ลางเลือนไปเสียแล้ว

วัจฉะ !
ที่ท่านไม่รู้เรื่องนั้น ก็สมควรแล้ว
ที่ท่านเกิดรู้สึกวนเวียนนั้น ก็สมควรแล้ว

เพราะธรรมนี้
เป็นของลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ตาม

ธรรมนี้
เป็นของสงบระงับประณีต
ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งถึงได้ด้วยการตรึก

ธรรมนี้
เป็นของละเอียดบัณฑิตจึงจะรู้ได้

เรื่องปริยายนี้
ตัวท่านมีความเห็นมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างอื่น
มีความพอใจที่จะฟังให้เป็นอย่างอื่น

มีความชอบใจ
จะให้พยากรณ์เป็นอย่างอื่น

เคยปฏิบัติทำความเพียร
เพื่อได้ผลเป็นอย่างอื่น

ท่านเองได้มีครูบาอาจารย์เป็นอย่างอื่น
ฉะนั้นท่านจึงรู้ได้ยาก



วัจฉะ !
ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านดู
ท่านเห็นควรอย่างใด จงกล่าวแก้อย่างนั้น

วัจฉะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ?

ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน
ท่านจะพึงรู้ได้หรือว่า
ไฟนี้ลุกโพลง ๆ อยู่ต่อหน้าเรา

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ พระเจ้าข้า !

วัจฉะ !
หากมีคนถามท่านว่า
ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้
มันอาศัยอะไรจึงลุกได้

เมื่อถูกถามอย่างนี้
ท่านจะกล่าวแก้เขาว่าอย่างไร ?

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ไฟที่ลุกโพลง ๆ อยู่ต่อหน้านี้
มันอาศัยหญ้าหรือไม้เป็นเชื้อ
มันจึงลุกอยู่ได้ พระเจ้าข้า !

วัจฉะ !
หากไฟนั้นดับไปต่อหน้าท่าน
ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟได้ดับไปต่อหน้าเรา

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ พระเจ้าข้า !

วัจฉะ !
หากมีคนถามท่านว่า
ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านนั้น มันไปทางทิศไหนเสีย
ทิศตะวันออก หรือตะวันตก ทิศเหนือ หรือใต้

เมื่อถูกถามอย่างนี้
ท่านจะกล่าวแก้เขาว่าอย่างไร ?

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
ข้อนั้นไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าหรือไม้ จึงลุกขึ้นได้

แต่ถ้าเชื้อนั้นมันสิ้นไปแล้ว
ทั้งไม่มีอะไรอื่นเป็นเชื้ออีก
ไฟนั้นก็ควรนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว



ฉันใดก็ฉันนั้นนั่นแล

วัจฉะเอย !
เมื่อไปบัญญัติอะไรขึ้นมาให้เป็นสัตว์
โดยถือเอารูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ กลุ่มใดขึ้นมามันก็ได้

แต่ความยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณสำหรับกลุ่มนี้ ตถาคตเองละได้ขาดแล้ว
ถอนขึ้นได้จนถึงรากเง่าของมันแล้ว
ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนเสียแล้ว
ถึงความยกเลิกไม่มีอีก ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว

วัจฉะเอย !
ตถาคตอยู่นอกเหนือการนับว่าเป็น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเสียแล้ว

มันเป็นเรื่องลึกซึ้งที่ใคร ๆ ไม่พึงประมาณได้
หยั่งถึงได้ยากเหมือนดั่งห้วงมหาสมุทร ฉะนั้น

วัจฉะเอย !
ข้อนี้จึงไม่ควรจะกล่าวว่า เกิด

ไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิด

ไม่ควรจะกล่าวว่า
บางทีก็เกิด บางทีก็ไม่เกิด

ไม่ควรจะกล่าวว่า
เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ดังนี้แล


( บาลี – ม. ม. ๑๓/๒๔๕-๒๔๘/๒๔๘-๒๕๑ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com