การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด



ทีฆตปัสสีนิครนถ์

ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ท่านพระโคดม !
พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร  ?

ทีฆตปัสสี !
ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรม ๆ ดังนี้ เป็นอาจิณ

ท่านพระโคดม !
ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรมในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร  ?

ทีฆตปัสสี !
เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้สามประการ คือ

กายกรรม ๑
วจีกรรม ๑
มโนกรรม ๑

ท่านพระโคดม !
ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง
วจีกรรมอย่างหนึ่ง
มโนกรรมอย่างหนึ่ง มิใช่หรือ ?

ทีฆตปัสสี !
กายกรรมอย่างหนึ่ง
วจีกรรมอย่างหนึ่ง
มโนกรรมอย่างหนึ่ง



ท่านพระโคดม !
ก็บรรดากรรมทั้งสามประการ
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้

กรรมไหน คือกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม
ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 

ทีฆตปัสสี !
บรรดากรรมทั้งสามประการ
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้

เราบัญญัติมโนกรรม ว่ามีโทษมากกว่า
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม

เราจะบัญญัติ กายกรรม วจีกรรม
ว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรม ก็หามิได้

ท่านพระโคดม !
พระองค์ตรัสว่า มโนกรรมหรือ ?

ทีฆตปัสสี !
เรากล่าวว่า มโนกรรม

ท่านพระโคดม !
พระองค์ตรัสว่า มโนกรรมหรือ  ?

ทีฆตปัสสี !
เรากล่าวว่า มโนกรรม

ท่านพระโคดม !
พระองค์ตรัสว่า มโนกรรมหรือ ?

ทีฆตปัสสี !
เรากล่าวว่า มโนกรรม

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยัน
ในเรื่องที่ตรัสนี้ถึงสามครั้ง ด้วยประการฉะนี้
แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่

จากนั้นได้มีอุบาลีคหบดี
เข้ามาเพื่อสนทนาในเรื่องนี้
ต่อจากฑีฆตปัสสีนิครณถ์

โดยยังมีความเห็นว่า
กรรมทางกายมีโทษมากกว่ากรรมทางใจ

และพระผู้มีพระภาคได้ยกอุปมา
เพื่อให้เห็นเปรียบเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้



คหบดี !
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นอย่างไร ?

ในบ้านนาลันทานี้
พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา

เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง

คหบดี !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ?

บุรุษนั้นจะสามารถ
ทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี
๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี

ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้ พระเจ้าข้า !

บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว
จะเก่งกาจอะไรกันเล่า



คหบดี !
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นอย่างไร ?

สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์
ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต

พึงมาในบ้านนาลันทานี้
สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า
ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียว

คหบดี !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ?

สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์
ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น
จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า
ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียว ได้หรือไม่หนอ ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี
๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี

สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์
ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น
ยังสามารถทำให้เป็นเถ้า
ได้ด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียว

แล้วบ้านนาลันทาที่ทรุดโทรมหลังเดียว
จะคณาอะไรเล่า

คหบดี !
ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี
คำก่อนกับคำหลังก็ดีของท่าน ไม่ต่อกันเลย


( บาลี – ม. ม. ๑๓/๕๔-๖๕/๖๓-๗๐ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com