คำสั่งสอนที่เป็นไปมากในสาวก



สัจจกนิครนถ์พอนั่งแล้ว

ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง
ถ้าพระโคดมจะทำโอกาส เพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด

พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร
และคำสั่งสอนของพระโคดม
มีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้
ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า

รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง

รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน
สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน

สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเรามีส่วนอย่างนี้
ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย



ท่านพระโคดม !

ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด

ท่านพระโคดม !
เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด
ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน
จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้

หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ต้องทำด้วยกำลัง อันบุคคลทำอยู่
การงานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน
ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงทำกันได้ ฉันใด

ปุริสบุคคลนี้
มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน
มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน
ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า

รูปเป็นตนของเรา
เวทนาเป็นตนของเรา
สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา
วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้มิใช่หรือ ?

ท่านพระโคดม !
ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น
ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ประชุมชนเป็นอันมากนั้น จักทำอะไรแก่ท่าน

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด

ท่านพระโคดม !
เป็นความจริงข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้
รูปเป็นตนของเรา
เวทนาเป็นตนของเรา
สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา
วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ถ้าอย่างนั้นเราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ
ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

อำนาจของพระราชามหากษัตริย์
ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล
หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร
อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ
เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มิใช่หรือ ?

ท่านพระโคดม !
อำนาจของพระราชามหากษัตริย์
ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล
หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร
อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ
เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์

แม้แต่อำนาจของหมู่คณะเหล่านี้ คือ วัชชี มัลละ
อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ
เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ยังเป็นไปได้ในแว่นแคว้นของตน ๆ

เหตุไรเล่าอำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์
ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล
หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร จะให้เป็นไปไม่ได้

อำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์
ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องให้เป็นไปได้ด้วย
ควรจะเป็นไปได้ด้วย



ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ข้อที่ท่านกล่าวว่า

รูปเป็นตนของเรา
อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า
รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว
สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสียถึงสองครั้ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะสัจจกนิครนถ์ว่า

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
กาลบัดนี้ ท่านจงแก้ ไม่ใช่การที่ท่านควรนิ่ง

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ผู้ใดอันตถาคต
ถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้
ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ในที่เช่นนั้น

สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช
ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรือง
ลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์

ประกาศว่า
ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ 
อันพระผู้มีพระภาค
ตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้ว
ถึงสามครั้ง
แล้วมิได้แก้ปัญหา 
เราจักผ่าศีรษะ
สัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ

ท้าววชิรปาณีนั้น
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่

ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ตกใจกลัวจนขนชัน
แสวงหาพระผู้มีพระภาค
เป็นที่ต้านทานป้องกันเป็นที่พึ่ง 
ได้ทูลว่า



พระโคดมผู้เจริญ !

ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า

รูปเป็นตนของเรา ดังนี้
อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้น
ว่ารูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ ?

พระโคดมผู้เจริญ !
ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้ว
จึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน



ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า

เวทนาเป็นตนของเรา
สัญญาเป็นตนของเรา
สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา
วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้

อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา ในสัญญา
ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณว่า

เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย
และวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ ?

พระโคดมผู้เจริญ !
ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจงทำในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้ว
จึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน



ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย
และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?

ไม่เที่ยง
พระโคดมผู้เจริญ !

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ?

สิ่งนั้นเป็นทุกข์
พระโคดมผู้เจริญ !

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ?

ข้อนั้นไม่ควรเลย
พระโคดมผู้เจริญ !



ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว
กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ดังนี้

ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง
หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้แล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ ?

จะพึงมีได้เพราะเหตุไร
ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ !

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว
กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า
นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา
ดังนี้มิใช่หรือ ?

ไฉนจะไม่ถูก พระเจ้าข้า !
ข้อนี้ต้องเป็นอย่างนั้น พระโคดมผู้เจริญ !



ดูกรอัคคิเวสสนะ !
เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้
เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่
ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า

เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น
มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด
เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น
แล้วตัดยอด ริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้
แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง
สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง
ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง

ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ประชุมชน
ในเมืองเวสาลีว่า

เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่
เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่า
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา
จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว
ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย

หากเราปรารภ
โต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา
แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา
ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว
จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้

ดูกรอัคคิเวสสนะ !
หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด
หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น
ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย

ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกาย
มีพระฉวีดังทองในบริษัทนั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
สัจจกนิครนถ์ นั่งนิ่ง อึ้ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ


( บาลี – มู. ม. ๑๒/๔๒๕-๔๓๒/๓๙๖-๓๙๙ )
เทียบเคียงพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ กดที่นี้


Create by buddha-quote.com